
How to avoid ความบาดหมางเป็นบ่อเกิดแห่งสงคราม และถึงไม่บอกทุกคนคงรู้กันอยู่แล้วว่าสงครามไม่ใช่สิ่งที่ดี เป็นการต่อสู้และปะทะกันเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งผลของการปะทะกันนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายได้เลย เพราะในทุกสงครามย่อมมีคนที่รับผลกระทบ ฉะนั้นแล้ว ทำไมเราจึงไม่เริ่มหยุดสงครามจากต้นเหตุอย่างความบาดหมางเสียล่ะ
เข้าใจดีว่าทุกวันนี้ เราหยุดความบาดหมางได้ยากเพราะตั้งแต่เกิดยันตายไม่มีใครเลยที่ไม่เคยพบเจอกับความบาดหมาง แม้ว่าเราจะระวังตัวหรือพยายามแค่ไหน ความบาดหมางจะวิ่งเข้ามาหาเราเองอยู่ดี เปรียบเสมือนเชื้อโรคที่เราไม่สามารถกำจัดมันออกไปได้หมดจดและมีอยู่ทุกที่ แม้กระทั่งในตัวเราเองและเพื่อปกป้องตัวเองนั้นบางครั้งเราจึงต้องก่อความบาดหมางขึ้น แม้ว่ามันจะทำให้เราวุ่นวายใจ ไม่สบายใจหรือรู้สึกเกลียดมันแค่ไหนก็ตาม ตัวอย่างความบาดหมางในชีวิตประจำวันก็มีตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น ทะเลาะกับแฟน การอยู่ร่วมกับคนที่ตนเองเกลียด การประท้วงเพื่อต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมทางการเมือง สงครามโลกครั้งต่างๆ
อย่างที่บอกไปว่าความบาดหมางเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยุดหรือกำจัดออกไปได้ เหมือนเชื้อโรคที่เราทำได้แค่ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงเท่านั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจึงมานำเสนอวิธีการหลีกเลี่ยงความบาดหมางกัน
1.ใจเย็นและปล่อยวาง
เมื่อมีเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความบาดหมาง แน่นอนว่าอารมณ์ของเราตอนนั้นต้องพุ่งพล่าน โกรธ เกลียด อิจฉา อยากเข้าไปทำลาย เข้าไปต้าน เมื่อรู้ตัวว่าคุณอาจทำอะไรลงไปให้เกิดความบาดหมาง แนะนำให้ทำทุกวิถีทางให้ตนเองใจเย็นลงก่อน หายใจเข้า-ออกลึกๆช้าๆ นับเลข 1-10 ในใจ หากสงบลงคนเดียวไม่ได้ก็ต้องพกเพื่อนหรือใครซักคนที่จะทำให้คุณใจเย็นลงได้ เมื่อรู้ตัวว่าตนเองกำลังจะเจอกับความบาดหมาง
หลังจากคุณใจเย็นลง ขจัดอารมณ์รุนแรงพร้อมปะทะของตนเองออกไปได้แล้ว ขั้นตอนต่อมาคือปล่อยวางซะ แม้ว่าคุณจะใจเย็นลง แต่ก็ยังหลงเหลือความตั้งใจที่จะสร้างความบาดหมางอยู่ ดังนั้นให้ลองเปลี่ยนความคิดดูว่า โลกนี้ไม่อะไรเที่ยงแท้และเป็นของคุณจริงๆ ทุกสรรพสิ่งย่อมหวน คืนสู่ธรรมชาติ ในท้ายที่สุด ดังนั้นหากการปล่อยวางและหลีกเลี่ยงความบาดหมางทำให้คุณมีความสุขในระยะยาวและไม่เหนือบ่ากว่าแรงนัก แนะนำให้ลองทำดู
ยกตัวอย่างเช่น คุณถูกป้าคนหนึ่งแซงคิวซื้อข้าว ช่วงนั้นคุณเครียดสะสมจากงานมามาก อยากกลับบ้านไปกินข้าวแล้วอาบน้ำนอนเร็วๆ หลังโดนแซงคิวใส่คุณจึงพร้อมปะทะมากๆ อยากตะโกนด่าทอ หรืออาจถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ทำยังไงก็ได้ให้คนที่คุณคิดว่าเป็นคนไม่ดี เจ็บปวดมากที่สุด เพราะความแค้นมันสุมทรวง ก่อนเข้าปะทะให้คุณลองใจเย็นให้ได้ก่อน ลดอารมณ์ด้านลบลงและปล่อยวางว่าถึงป้าคนนี้จะไม่แซงคิว คุณก็อาจจะต้องกลับบ้านช้าจากอย่างอื่นอยู่ดีและลองคิดกลับกันว่าหากเป็นช่วงที่คุณอารมณ์ดี คุณจะแค้นป้าคนนี้ขนาดนี้หรือไม่ เมื่อคิดได้แล้วก็สุดแล้วแต่คุณว่าจะตัดสินใจอย่างไร ยืนรอเฉยๆปล่อยให้โดนแซงคิวไป เพราะไม่อยากบาดหมางกับใคร แค่นี้ชีวิตก็เหนื่อยพอแล้ว หรือลองเสี่ยงพูดตักเตือนแบบนุ่มนวลที่สุดดู ซึ่งอาจมีโอกาสบาดหมางกับป้าได้แบบ 50 50 หากป้ารับฟังและเข้าใจคุณอาจไม่โดนแซงคิวอีกและยังเป็นการช่วยไม่ให้ป้าไปทำตัวแบบนี้กับคนอื่นด้วย หรือถ้าป้าตอบรับกลับมาในแง่ลบอาจมีการปะทะที่รุนแรงเกิดขึ้นระหว่างคุณทั้งสอง
2.คิดถึงเหตุผลมากว่ามากอารมณ์
อารมณ์มักเป็นบ่อเกิดแห่งความบาดหมาง หลายครั้งที่คุณมักถูกอารมณ์นำพาไปมากกว่าเหตุผล อาจกล่าวได้ว่าทุกครั้งที่มีความบาดหมาง คนที่ใช้อารมณ์มากกว่ามักจะเป็นฝ่ายผิดเสมอ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวเรามีหน้าที่ควบคุมมันและแสดงออกย่างเหมาะสม ส่วนเหตุผลนั้นเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือกว่าและคนมีอารยะมักจะใช้ต่อสู้กัน อย่างคำกล่าวที่ว่าโกรธคือโง่ โมโหคือบ้า หากคุณก่อความบาดหมางขึ้นเพราะอารมณ์นำพาคุณอาจมานึกเสียใจทีหลังได้
แม้จะเป็นเรื่องยากเพราะตามธรรมชาติแล้วมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างให้ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ แต่เราสามารถฝึกได้ ยกตัวย่างเช่น ในสถานการณ์เดียวกันกับข้อแรก คุณที่โดนป้าแซงคิว ต้องวางอารมณ์ต่างๆดูก่อน แล้วลองคิดหาเหตุผลว่า ทำไมป้าต้องแซงคิว? จำเป็นหรือไม่ที่คุณต้องโกรธขนาดนั้น? สมเหตุสมผลหรือไม่กับสิ่งที่คุณได้รับ? หากลองมองดีๆแล้วคุณอาจได้เห็นบางอย่างที่อารมณ์ทำให้คุณมองข้ามไป อย่างป้าเขาอาจไม่เห็นคุณ หรือจริงๆแล้วคุณคิดไปเองว่าตัวเองมาก่อนป้า หลังจากคิดหาคำตอบด้วยเหตุผลได้แล้วก็แก้ไขแบบมีเหตุผล พูดกันด้วยเหตุผลและหลักการ ถ้าป้าไม่รับฟังก็จงย้อนไปสู่การปล่อยวางตามข้อแรก เพราะไม่มีเหตุผลอะไรให้คุณต้องเสียเวลาไปยุ่งกับคนที่คุยไม่รู้เรื่อง
3.เบี่ยงเบนความสนใจ
ในกรณีที่ความบาดหมางไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ใช้เหตุผลก็ไม่ได้ ปล่อยวางก็ยาก ก่อนจะลงมือทำอะไรใจร้อนไปลองเบี่ยงเบนความสนใจดูก่อน ไม่ว่าจะเป็นตัวคุณเองหรือคนที่คุณกำลังปะทะ ลองเปลี่ยนประเด็นการสนทนาหรือกิจกรรมที่ทำดู บางทีความบาดหมางอาจหายไปได้อย่างงงๆโดยที่คุณเองยังไม่ทันรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ
4.ถอยออกมา
หากทุกอย่างสุดจะทนและบีบคั้นให้คุณต้องก่อสงครามจริงๆ ทางเดียวที่จะทำให้ทุเลาจากความตึงเครียดลงได้คือ ถอยออกมา การเดินหนีหรือยอมถอยออกมาไม่ได้แปลว่าคุณขี้ขลาด แต่เป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อทำให้สถานการณ์นั้นไม่บานปลายไปกว่าเดิม การถอยออกมาต่างจากการปล่อยวาง คือ คุณอาจไม่หยุดความคิดในการก่อความบาดหมางทันทีทันใด แต่เป็นการทำให้ความบาดหมางนั้นมีผลกับชีวิตของคุณน้อยลง เพื่อที่คุณจะได้มีเวลาคิดต่อไปว่า คุณควรจัดการอย่างไรกับมันดี
5.คิดถึงผลที่จะตามมาให้มากๆ
ในข้อนี้เป็นการคิดในระยะยาวถึงผลที่จะตามมาหลังจากก่อความบาดหมาง ซึ่งการคิดการณ์ไกลเช่นนี้จะทำให้คุณมีสติมากพอที่จะไม่สร้างความบาดหมางที่ทำให้ชีวิตของคุณได้ไม่คุ้มเสีย อาทิเช่น เหตุกาณ์ป้าแซงคิวในข้อก่อนๆ คุณลองคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อหากคุณเถียงกับป้า คุณอาจจะกลับบ้านช้าลงหรือควบคุมตัวเองไม่อยู่เผลอทำร้ายคนแก่ ติดคุกหมดอนาคต แบบนี้แล้วคุณยังจะสร้างความบาดหมางอยู่หรือไม่?
แม้ความบาดหมางจะเป็นเรื่องไม่ดีเสียส่วนใหญ่ แต่สังคมมนุษย์นั้นจะมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นได้ก็ด้วยความบาดหมางเช่นกัน หลังจากทำตามทุกวิธีแล้วคุณยังคงเชื่อมั่นว่าการสร้างความบาดหมางเป็นสิ่งที่สมควร ผู้เขียนจะไม่ขอห้ามปรามอะไร เพราะที่สุดแล้วไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไร ก็ไม่มีผลเท่าตัวคุณเองเชื่อแบบนั้น