กลิ่นบำบัด ช่วยอะไรและสามารถนำมาทำอะไรได้อีกบ้าง
กลิ่นบำบัด ยุคนี้คนหันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น สิ่งที่นำมาใช้กับร่างกาย ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงนิยมนำสิ่งที่เป็นธรรมชาติมาเป็นส่วนประกอบหลัก พืชสมุนไพรต่างๆ จึงเป็นที่นิยมมากกว่าสารสังเคราะห์ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือสะสมจนเกิดเป็นอันตรายต่อร่างกายเมื่อใช้ไปนานๆ ได้
การบำบัดด้วยกลิ่น หรือ Aromatherapy ก็ถือเป็นรูปแบบของการดูแลสุขภาพด้วยวิธีธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งมีมานานแล้ว
Aroma หมายถึง กลิ่น ความหอม
therapy หมายถึง การบำบัด การเยียวยา การรักษา
Aromatherapy จึงมีความหมายว่า การบำบัดด้วยกลิ่น หรือเครื่องหอมต่างๆ
การบำบัดด้วยด้วยกลิ่น จะใช้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากพืชธรรมชาติ เป็นเครื่องมือหลักในการบำบัด
ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- เพื่อการรักษาโรค (clinical aromatherapy)
เป็นการบำบัดโดยแพทย์ผู้มีความรู้เฉพาะทาง เป็นผู้เลือกใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆ เพื่อใช้รักษาโรคได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้
- ด้านจิตใจ (psychoaromatherapy)
เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหย เพื่อทำผู้ป่วยมีความรู้สึกสงบ ช่วยให้ผ่อนคลาย สร้างความสมดุลของอารมณ์และจิตใจ ลดความเครียด ลดความกังวล ลดอาการของโรคซึมเศร้า และอาการทางจิตอื่นๆ ให้ความรู้สึกมีพลัง มีความกระปรี้กระเปร่า
- ด้านร่างกาย (medical aromatherapy)
เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหย เพื่อรักษาสมดุลเคมีของของเหลวในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยบำบัดอาการของโรคบางอย่างได้
- เพื่อความงาม (aesthetic aromatherapy)
ส่วนใหญ่จะนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ร่วมกับการนวด ช่วยทำให้ผ่อนคลาย และรู้สึกมีพลังมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผู้นำมาผสมในเครื่องสำอางเพื่อช่วยบำรุงผิว หรือชะลอการเกิดริ้วรอย ความเหี่ยวย่นได้อีกด้วย
น้ำมันหอมระเหย
เป็นน้ำมันที่พืชสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งจะถูกเก็บไว้ในจุดต่างๆ เช่น ใบ ผิว เปลือก เกสร กลีบดอก หรือแม้กระทั่งราก เมื่อได้รับความร้อนก็จะส่งกลิ่นออกมา น้ำมันหอมระเหยนี้มีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมาย บางชนิดสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ บางชนิดช่วยลดอาการบวม บางชนิดช่วยลดการอักเสบ บางชนิดช่วยคลายเครียด บางชนิดกระตุ้นให้รู้สึกสดชื่น ที่แตกต่างกันเช่นนี้เพราะน้ำมันหอมระเหยของพืชแต่ละชนิดมีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน

วิธีใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อบำบัด
สามารถทำได้หลายวิธี แต่ไม่แนะนำให้ใช้โดยการสูดดมโดยตรง และจะต้องนำมาทำให้เจือจางเสียก่อนจึงจะใช้งานได้โดยมีวิธีต่างๆ ดังนี้
-
- ผสมน้ำอาบ
เป็นวิธีที่จะได้รับกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย 2 ทาง คือทางผิวหนังและการสูดดม ทำโดยการหยดน้ำมันลงในน้ำอุ่นๆ ที่ใช้อาบ แล้วแช่ตัวลงในอ่าง ใช้เวลาอาบประมาณ 10 นาทีขึ้นไป และให้สูดดมกลิ่นเข้าไปด้วยในระหว่างการอาบ
- นวดตัว ให้ผสมน้ำมันหอมระเหยเข้ากับน้ำมันที่ใช้นวดตัว จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการปวดเมื่อย กระตุ้นระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ถ้าไม่มีน้ำมันนวดตัวสามารถใช้น้ำมันพืชก็ได้
- ประคบ ให้หยดน้ำมันหอมระเหยลงในน้ำ ได้ทั้งน้ำร้อน และน้ำเย็น แต่ต้องเป็นน้ำสะอาด หรือจะเป็นน้ำชา หรือน้ำสมุนไพรก็ได้ ทำได้ทั้งประคบร้อนและประคบเย็น โดยการนำผ้าไปจุ่มในน้ำที่ผสมน้ำมันหอมระเหยแล้วบิดให้หมาด จากนั้นนำมาประคบบริเวณที่ปวด เช่น ศีรษะ หรือบริเวณที่มีรอยฟกช้ำ ที่เคล็ด ที่บวม ให้ประคบนานประมาณ 20-30 นาที นอกจากนี้น้ำที่ใช้ชุบลูกประคบยังสามารถใช้สูดดมเพื่อแก้อาการหวัดและไซนัสได้
- สูดดม สามารถทำได้หลายวิธี แต่ที่สำคัญมากคือจะต้องนำมาทำให้น้ำมันหอมระเหยนั้นเจือจางก่อน จึงหยดลงบนผ้าหรือกระดาษทิชชูเพื่อสูดดม หรือหยดน้ำมันที่เจือจางแล้วลงบนหมอนเพื่อหายใจเข้าในช่วงที่กำลังนอนหลับ หรือจะผสมลงในน้ำอุ่น แล้วก้มหน้าลงไปสูดดมหรืออังเพื่อช่วยบำบัดโรคทางเดินหายใจได้
- ฉีดพ่น
ทำโดยการผสมน้ำมันหอมระเหยกับน้ำอุ่นที่ประมาณ 50 องศาเซลเซียส แล้วบรรจุภาชนะหัวฉีด จากนั้นจึงทำการพ่นให้เป็นละอองฝอย เพื่อให้เกิดกลิ่นกระจายตามห้องต่างๆ ภายในบ้านได้
- การผสมในเครื่องสำอาง ปกติจะผสมน้ำมันหอมระเหยในเครื่องสำอางที่ใช้กับใบหน้าไม่เกิน 2 เปอร์เซนต์ และที่ใช้กับผิวกายไม่เกิน 3 เปอร์เซนต์ เพื่อประโยชน์ต่างๆ ด้านความงาม เช่น ลดเลือนริ้วร้อย รักษาความเหี่ยวย่น
- ใช้กับเตาระเหย สามารถใช้ได้ทั้งกับเตาแบบจุดตะเกียง และเตาไฟฟ้า แต่อุณหภูมิของน้ำต้องไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส ทำโดยการหยดน้ำมันหอมระเหยลงในน้ำเปล่าในถ้วยที่ตั้งบนเตา เมื่อน้ำร้อนก็จะเกิดการระเหยและมีกลิ่นหอมออกมา สามารถช่วยบำบัดอารมณ์ และผ่อนคลายจิตใจได้เป็นอย่างดี นิยมใช้กันมากในสปาต่างๆ
- แช่มือหรือเท้า เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่เตรียมน้ำอุ่นพอประมาณลงในภาชนะขนาดย่อมๆ 1 ใบ จากนั้นหยดน้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่ต้องการลงไป แล้วนำมือหรือเท้าลงไปแช่ โดยใช้เวลาซัก 10 นาทีเป็นอย่างน้อย ก็จะช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อที่มือและเท้า ทั้งยังช่วยลดอาการของไมเกรนได้อีกด้วย
- กลั้วคอและบ้วนปาก สำหรับผู้ที่มีปัญหาช่องปากหรือช่องคอ ยังสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยบางชนิดเพื่อฆ่าเชื้อ และลดการอักเสบของโรคเหล่านี้ได้ ทำโดยการหยดน้ำมันลงในน้ำ 2-3 หยด แล้วใช้กลั้วคอ
- จุดเทียนหอม วิธีนี้จะคล้ายกับการใช้เตาระเหย แต่ต่างกันตรงที่จะใส่น้ำมันไปในเทียนหอมแทน เมื่อจุดเทียนก็จะได้กลิ่นน้ำมันหอมระเหยออกมา
และสำหรับคนที่ยังไม่มีไอเดียว่าจะเลือกน้ำมันหอมระเหยกลิ่นไหนมาใช้ดี เรามี 5 กลิ่นที่จะช่วยบำบัดความเครียดมาแนะนำให้ด้วยค่ะ
-
- ตะไคร้ เป็นพืชที่หาง่ายแถมราคาก็ยังถูก กลิ่นตะไคร้ช่วยบรรเทาหวัด ปวดหัว ลดไข้ คลายกล้ามเนื้อ และยังไล่ยุงให้ได้อีก
- ลาเวนเดอร์ มีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลของจิตใจ ลดความอ่อนเพลีย ทำให้หลับง่าย แก้เครียดได้ดี
- คาโมมายล์ มีฤทธิ์เย็น ช่วยให้ผ่อนคลาย หลับง่าย ลดความกังวล ลดความเครียด และยังช่วยลดการปวดท้องประจำเดือนได้
- มินต์ ในที่นี้คือเปปเปอร์มินต์ หรือสาระแหน่ มีสรรพคุณช่วยลดความง่วง ทำให้รู้สึกสดชื่น แก้อาการตกใจ ทำให้ใจเย็นขึ้น ถ้านำมาต้มแล้วดื่มแบบชา ยังช่วยแก้ไอ แก้เมารถได้ด้วย
- กาแฟ ช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้ตื่นตัว และยังสามารถบำบัดความเครียดได้อีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมใครๆ ถึงชอบไปร้านกาแฟ
ถึงแม้กลิ่นจากน้ำมันหอมระเหยจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็อาจมีบางอย่างที่ไม่เหมาะกับคนบางคน เช่น คนที่แพ้ง่าย บางคนแพ้กลิ่นบางอย่างเมื่อสูดดม บางคนแพ้เมื่อถูกผิวหนัง ดังนั้นแม้ว่าจะเป็นของที่มาจากธรรมชาติ ก็ควรใช้อย่างระมัดระวังด้วยเช่นกัน